บริจาคอย่างไร ให้ได้ทั้งบุญและนำไปลดหย่อนภาษีได้
มาถึงการนำเงินบริจาคที่เราได้บริจาคไปมาลดหย่อนกันบ้างแล้วค่ะ มาดูกันว่าเงินบริจาคที่เราจ่ายไปหรือระยะเวลาที่เหลืออยู่ก่อนสิ้นปี 2566 เราสามารถบริจาคอย่างไร ให้ได้ทั้งบุญและนำไปลดหย่อนภาษีได้
การบริจาคที่สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ เราจะแบ่งออกเป็น 4 การบริจาคด้วยกัน
1. บริจาคทั่วไป : หักลดหย่อนได้เท่าที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้ หลังหักค่าใช้จ่ายส่วนตัวและค่าลดหย่อนอื่นแล้ว
2. บริจาคพรรคการเมือง หักลดหย่อนตามจ่ายจริง ไม่เกิน 10,000 บาท
3. บริจาคสนับสนุนการศึกษา/กีฬา/พัฒนาสังคม : หักลดหย่อน ได้ 2 เท่า ของเงินที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น ๆ
4. เงินบริจาคผ่านระบบบริจาคอิเล็กทรอนิกส์ (e-Donation) : หักลดหย่อนได้ 2 เท่าของที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 10% ของเงินได้หลังหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อน
4.1. บริจาคผ่าน QR Code ที่มีสัญลักษณ์ e-Donation ที่ไหน เมื่อไหร่ก็ได้ เช่น บนเว็บไซต์ หรือโซเชียลมีเดีย เมื่อสแกนแล้วจะมีให้เลือกแสดงความประสงค์ส่งข้อมูลการบริจาคให้กับกรมสรรพากร ผู้บริจาคจึงไม่ต้องเก็บใบเสร็จหรือใบอนุโมทนาอีก
4.2. บริจาคเป็นเงินสด ที่หน่วยรับบริจาค เช่น สถานศึกษา ศาสนสถานทุกศาสนา โรงพยาบาล องค์การสถานสาธารณกุศล หน่วยบริจาคเหล่านี้จะเป็นผู้บันทึกข้อมูลการรับบริจาคบนระบบ e-Donation
หากผู้บริจาคไม่แน่ใจว่าหน่วยบริจาคดังกล่าวอยู่ในระบบ e-Donation หรือไม่ สามารถค้นหาหน่วยรับบริจาคได้ที่เว็บไซต์กรมสรรพากร (https://epayapp.rd.go.th/rd-edonation/portal/for-donor) และสามารถตรวจสอบข้อมูลบริจาคได้ตลอด 24 ชั่วโมง
4.3. หน่วยบริจาคในระบบ e-Donation ได้แก่
- สถานศึกษา
- ศาสนสถานทุกศาสนา
- สถานพยาบาลของรัฐ
- องค์การ สถานสาธารณกุศล ที่ได้รับการประกาศให้เป็นองค์กรสาธารณกุศล ตามประกาศกระทรวงการคลังว่าด้วยภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 2) เรื่อง กำหนดองค์การ สถานสาธารณกุศล สถานพยาบาลและสถานศึกษา
- หน่วยรับบริจาคอื่น ๆ ที่กฎหมายกำหนดให้สามารถนำการบริจาคมาใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้
รายการลดหย่อนภาษีอื่น ๆ คลิก!!